มาทำความรู้จัก Wireless LAN มาตรฐาน IEEE 802.11ac กันเถอะ

ช่วงปีที่แล้ว เหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายในบ้านก็ได้ปล่อยเราท์เตอร์ที่มีความเร็ว 450 Mbps กันออกมาหลายรุ่น แต่ก็ไม่ได้สร้างความแปลกใหม่อะไรให้กับวงการนี้มากนัก แต่ในปีนี้นอกเหนือจากการที่นำระบบ cloud ต่าง ๆ เข้ามาใส่ในเราท์เตอร์แล้ว ยังมีเรื่องของการที่เหล่าคนในวงการเครือข่ายผลักดันมาตรฐาน WLAN ตัวใหม่หลาย ๆ ตัว แต่ตัวที่เราได้ยินชื่อกันมากที่สุดตอนนี้ ก็คือ IEEE 802.11ac นั้นเองครับ

IEEE 802.11ac (ต่อไปขอย่อเป็น 11ac) เป็นมาตรฐาน WLAN ใหม่ ที่ตั้งเป้าว่าจะมาแทน มาตรฐาน IEEE 802.11n ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีหัวหอกเป็นผู้ผลิตชิปเซ็ทอย่าง Broadcom และเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำที่เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมผลักดัน มาตรฐานตัวนี้ให้เข้าไปอยู่ในมาตรฐาน Wi-Fi Alliance ให้ได้
มาตรฐาน 11ac นั้นได้มีการปรับปรุงเรื่องของการเข้ารหัสใหม่ และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใส่ไว้ ทำให้สามารถทำความเร็วต่ำสุดตามทฤษฎีต่อ 1 เสาได้ถึง 433 Mbps ซึ่งมีความเร็วใกล้เคียงกันกับ มาตรฐาน 11n ที่เป็นแบบ 3 เสา ซึ่งมีความเร็วอยู่ที่ 450 Mbps
การที่ 11ac นั้นออกแบบมาโดยคำนึงถึงอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ  เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน๊ตบุ๊คที่มีความบางมาก ๆ เป็นสำคัญด้วย เพราะว่าการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในปัจจุบันนั้นเน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย กันมากขึ้น เช่น การสตรีมไฟล์มีเดียผ่าน DLNA การโอนถ่ายไฟล์ผ่าน Wi-Fi Direct เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอุปกรณ์พวกนี้มักจะไม่ค่อยมีพื้นที่ในการใส่เสารับส่งสัญญาณ จำนวนมาก และถึงสามารถใส่ได้ ก็มีผลต่อการใช้พลังงานอีก ทำให้ความเร็วการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi นั้นโดนจำกัดไว้ แต่ด้วยความเร็วขั้นต่ำที่มาตรฐาน 11ac ทำได้ จะช่วยให้การโอนถ่ายข้อมูลนั้นมีความเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้เสารับส่งสัญญาณจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานอีกด้วย
สำหรับข้อมูลทางเทคนิคคร่าว ๆ ของมาตรฐาน 11ac มีดังนี้ครับ
  • เปลี่ยนมาใช้คลื่นความถี่ 5 GHz เป็นหลัก คลื่นช่วงนี้เป็นคลื่นที่ไม่ค่อยถูกใช้งานมากเท่าคลื่น 2.4 GHz ที่ใช้งานกันในอุปกรณ์ไร้สายและ WLAN กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
  • การเปลี่ยนวิธีการเข้ารหัสใหม่ และการใช้งานแบนด์วิดธ์ที่กว้างขึ้นเป็น 80 MHz หรือ 160 MHz ทำให้ความเร็วที่ได้ต่อ 1 เสาอยู่ที่ 433 Mbps ที่ 80 MHz และ 866 Mbps ที่ 160 MHz (ความเร็วของมาตรฐาน 11n จะอยู่ที่ 72 Mbps ที่ 20 MHz และ 150 Mbps ที่ 40 MHz)
  • รองรับเสาอากาศตั้งแต่ 1 – 8 ต้น หมายความว่ามาตรฐาน 11ac จะสามารถทำความเร็วได้ถึง 3.6 Gbps ซึ่งมากกว่า 11n ที่ 600 Mbps และ Gigabit LAN เสียอีก แต่ในช่วงเริ่มต้นนี้ ตัวสินค้าต่าง ๆ ที่ออกมาจะรองรับความเร็วสูงสุดไม่เกิน 1.3 Gbps
  • รองรับเทคนิคการส่งสัญญาณแบบใหม่ ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น Beamforming ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเข้าไปยังอุปกรณ์โดยตรง และ Multi-user MIMO ที่ทำให้เราท์เตอร์สามารถแยกเสาสัญญาณที่มีอยู่ไปรับส่งสัญญาณกับอุปกรณ์ หลาย ๆ ตัว ทำให้อุปกรณ์ไม่ต้องแย่งแบนด์วิดธ์กันใช้งานเหมือนระบบ MIMO ใน 11n
  • แน่นอนว่ายังคงรองรับมาตรฐาน Wi-Fi เก่า ๆ อยู่เหมือนเดิม
เพิ่มเติมเรื่อง Beamforming จริง ๆ แล้วใน มาตรฐาน 11n ได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้งาน ที่ทั้งเราท์เตอร์และอุปกรณ์ลูกข่ายต้องรองรับความสามารถนี้เหมือนกัน จึงไม่มีการนำความสามารถนี้มาใช้ แต่ก็มีผู้ผลิตบางราย เช่น Ralink ที่พัฒนา beamforming ที่รองรับกับอุปกรณ์มาตรฐาน 11n และมาตรฐานเก่าอื่น ๆ ที่ไม่รองรับ beamforming ได้
สำหรับคนที่สนใจจะอัพเกรดระบบ Wi-Fi ในบ้านเป็นมาตรฐาน 11ac ตอนนี้ทางผู้ผลิตก็ได้เริ่มทยอยทำเราท์เตอร์มาขาย เพื่อรอรับอุปกรณ์พกพารุ่นใหม่ ๆ ในปีหน้าที่จะทยอยมาใช้ Wi-Fi มาตรฐาน 11ac กัน แน่นอนว่าราคาของเราท์เตอร์พวกนี้ยังสูงอยู่ แต่ด้วยราคาที่สูงก็ทำให้ผู้ผลิตนั้นต้องจัดเต็มกับเราท์เตอร์พวกนี้ ด้วยการใส่ชิปเซ็ท ตัวขยายสัญญาณที่ดีที่สุดมาให้ อย่างน้อยคนที่ซื้อเราท์เตอร์ 11ac มาใช้ก่อน ก็ได้เราท์เตอร์ที่มีสเปกที่ดีกว่าเราท์เตอร์ทั่วไปครับ

More info

5G WiFi